วิธีเพาะไควาเระ หรือต้นอ่อนหัวไช้เท้า
เริ่มต้นจากการที่ผมได้ยินชื่อผักชนิดนี้ มันคืออะไร ? ไควาเระ ฟังแล้วแปลก ๆ เพราะไม่ใช่ภาษาบ้านเราแน่นอนครับ ก็เลยลองหาข้อมูลดูซักหน่อย ซึ่งไควาเระนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึงต้นอ่อนหัวไช้เท้า (ไควาเระ ไดกง – kaiware Daikon) เป็นผักที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทาน ไม่ว่าจะเป็น ทานสด ๆ ทานเป็นเครื่องเคียงปูอัดวาซาบิ หรือผสมในสลัด ซุป อาจลวกแป๊บเดียวก่อนนำไปประกอบอาหาร รสชาติออกซ่า ๆ เผ็ดนิด ๆ มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว จากที่ผมลองทานสด ๆ รสชาตินั้นออกคล้ายวาซาบิมาก ๆ แต่ผมว่าในบ้านเรานั้นจัดเป็นเครื่องเคียงลาบอีสาน และน้ำตก ได้รสชาติไปอีกแบบครับ คล้าย ๆ กับเราทานกระเทียมเลย หรือจะนำมาประกอบเครื่องยำก็ได้รสชาติเผ็ดนิด เปรี้ยวหน่อย ออกแนวจี๊ดจ๊าดถึงใจแน่นอน หรือแม้กระทั้งใส่ในสลัด ชาบู สุกี้ และสเต็กก็ยังได้ครับ รสชาติแบบนี้เลือดลมเดินดีแน่นอนครับ แต่ถ้าคนที่ไม่ชินกับรสชาติแบบนี้ ทานครั้งแรกอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้
วันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการเพาะไควาเระ หรือต้นอ่อนหัวไช้เท้า เผื่อว่าอยากจะลองเพาะทานดูครับ เป็นผักปลอดสารพิษอย่างแท้จริงเพราะใช้เฉพาะดินและน้ำเท่านั้น สุขภาพดีถ้วนหน้าทั้งครอบครัวครับ
วัสดุที่ต้องเตรียม
1.เมล็ดผักกาด (หัวไช้เท้า) หรือที่เรียกตามตลาดว่าไควาเระ
2.ดินปลูก อาจจะเป็นดินปลูกต้นไม้ที่ขายเป็นถุง ๆ ก็ได้
3.ถาดสำหรับเพาะ อาจใช้ตระกร้าหรืออย่างอื่นแทนได้
วิธีเพาะไควาเระ ว่าแล้วเริ่มกันเลยครับ
นี่เลยครับ พระเอกของเราวันนี้ เมล็ดผักกาด (ไควาเระ)
โรยเสร็จใช้มือเกลี่ยให้เมล็ดในถาดทั่วถึง และไม่ซ้อนกัน รดน้ำพอชุ่ม จะได้ตามภาพด้านล่างครับ
นำถาดเพาะไปไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท ระยะ 1-2 วันนี้อาจต้องหาอะไรคลุมหน่อยนะครับ เพื่อบังคับให้รากแทงลงดิน
รดน้ำเช้าเย็นพอชุ่ม ช่วงแรก ๆ การรดน้ำควรหาที่รดน้ำเป็นฝอย ๆ เพราะถ้าน้ำแรง รากจะหลุดจากดินได้ง่ายในช่วงนี้ จากภาพด้านล่างนี้ผ่านไป 1 วันครับ รดน้ำเสร็จคลุมแสงต่อ
ผ่านไปวันที่ 2 รดน้ำเช้าเย็นพอชุ่ม พยายามอย่าให้แฉะนะครับ และคลุมแสงต่อ
่ผ่านไปวันที่ 3 รดน้ำเช้าเย็นเหมือนเดิมครับ ต้นเริ่มเขียวอ่อน ๆ ตอนนี้อาจจะเป็นให้รับแสงได้แล้ว
ผ่านไปวันที่ 4 ต้นเริ่มยาว รดน้ำเช้าเย็นเช่นเคย อาจจะต้องรดมากขึ้นเพื่อให้น้ำลงไปถึงรากนะครับ
ผ่านไปวันที่ 6 แหม…..เขียวมาก ๆ รดน้ำตามเดิม
ผ่านไปวันที่ 7 เย้…. สำเร็จ ได้เวลาตัดแล้ว (ถ้าต้นยาวก็สามารถตัดได้นะครับ แต่ถ้าหน้าหนาวอาจจะใช้เวลาประมาณ 7-10 จึงจะตัดได้ครับ )
การตัดควรใช้ของมีคมตัดนะครับ เช่น กรรไกร หรือมีดก็ได้ เพื่อไม่ให้ส่วนที่ตัดช้ำ ว่าแล้วก็ ปาดเลย………
ใส่ในถาดแล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด 1-2 น้ำ ก็จะได้ไควาเระ หรือต้นอ่อนหัวไช้เท้าไปประกอบอาหาแล้วครับ
ผมลองผัดน้ำมันหอยดู รสออกขมนิด ๆ ผมว่าน่าจะเหมาะกับทำเป็นยำ หรือเครื่องเคียงน่าจะดีครับ เพราะรสออกซ่า ๆ แล้วแต่คนชอบนะครับ บางคนอาจจะไม่ชอบกลิ่นก็ได้ ส่วนเมนูก็ทำได้หลายหลาย ด้านล่างนี้เอามาเรียกน้ำย่อยครับ
เป็นยังไงบ้างครับ การเพาะไควาเระ เพื่อน ๆ คนไหนเพาะแล้วเป็นยังไงบ้าง อย่าลืมเอามาอวดกันนะครับ